Book Review : The Outward Mindset เพราะมองออกนอก คุณถึงเห็นข้างใน
ใครเคยอ่าน “วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก” หรือ “อยู่แต่ในกล่องคุณจะไปเห็นอะไร” แล้วชอบ เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะมาจากคนเขียนคนเดียวกัน และแนวทางการเล่าเรื่องก็ใกล้เคียงกัน
หนังสือจั่วหัวไว้ว่า… เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา เราจะพบเจอคนสองแบบ แบบแรกมองเห็นแต่ความยุ่งยาก แบบสองมองเห็นแต่โอกาส อะไรที่ทำให้คนสองแบบนี้แตกต่างกัน คำตอบเดียวคือ Mindset และหนังสือเล่มนี้จะบอกวิธีพาตัวเองไปสู่การมี Mindset ที่ดี และเมื่อคุณสามารถมอง “ออกนอก” ตัวเอง เห็นโลกอย่างที่มันเป็น และเข้าใจแก่นแท้ “ข้างใน” ของสิ่งต่างๆ ได้แล้ว ชีวิตคุณ (รวมถึงคนรอบตัวคุณ) ก็น่าจะมีความสุขขึ้น
หนังสือเปิดบทแรกด้วยการเล่า case study ของหน่วยสวาทจากกรมตำรวจที่กำลังพากำลังหลายนายบุกเข้าไปตรวจค้นและจับกุมคนในบ้านหลังหนึ่งที่ต้องสงสัยว่ามียาเสพติดในครอบครอง หน่วยสวาทของชิปอาวุธครบมือ และคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่ในบ้านมีเด็กเล็กและผู้หญิงด้วย ซึ่งทำให้สถานการณ์วุ่นวายกว่าปกติ ในตอนนั้นเองชิปก็เดินหาผงสีขาวไปทั่วบ้าน (แน่นอนว่าไม่ใช่ยาเสพติด) แต่เขากำลังมองหานมผง เพื่อชงนมให้แม่ๆ ป้อนให้เด็กน้อยที่กำลังหิวโหยต่างหาก
นี่คือพฤติกรรมใหม่ของทีมสวาทของชิป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาเป็นหน่วยงานที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ รวมไปถึงการทำทรัพย์สินในบ้านเสียหาย แต่หลังจากที่พวกเขาเปลี่ยนวิธีโดยการใช้ “กรอบความคิดแบบมองออก” ตลอด 6 ปีให้หลังพวกเขาไม่ได้รับข้อร้องเรียนใดๆ อีกเลย
ช่วงต้นหนังสือเล่า case study หลากหลายเคสเพื่อทำให้เรามองเห็นภาพว่ากรอบความคิดของคนคนหนึ่ง หรือของคนในทีมนั้นมีความสำคัญมากแค่ไหน มันส่งผลต่อพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กร เวลาที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เพราะถ้าพฤติกรรมใหม่ๆ ที่เราต้องการ ไม่สอดคล้องกับกรอบความคิดเดิมของคนในองค์กร ต่อให้เราพยายามผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ ก็ไม่มีประโยชน์
หนังสือเล่มนี้เน้นการขยายภาพมุมมองแบบต่างๆ ให้เราเห็นได้ชัดขึ้นผ่าน case study แทบทั้งหมด เพราะฉะนั้นการจะอธิบายหนังสือหรือรีวิวหนังสือให้เห็นภาพชัด และเข้าใจได้ชัดเจน โดยไม่ยก case study เลยคงเป็นเรื่องที่ยากพอดู เพราะฉะนั้นขออนุญาตเล่าเรื่องผ่านหลายๆ เคสจากในเล่มนะคะ
- โจกำลังส่งลูกสาวสองคนเข้านอน แต่จู่ๆ ลูกสาววัย 6 ขวบก็ตัดพ้อกับเขาว่า พ่อไม่รักเธอเท่าเจคอบ ลูกชายอีกคน เหตุผลที่แอนนาบอกโจก็คือ พ่อไม่เล่นกับเธอเหมือนที่เล่นกับเจคอบ แต่โจบอกว่าทุกเย็นหลังเลิกงานเขาก็รีบกลับมาเล่นบาสกับเธอนี่นา แล้วแอนนาก็กระซิบบอกเขาว่า “หนูไม่ชอบเล่นบาส” แอนนาช่วยให้โจมองเห็นว่า เขาไม่ได้มองเห็นลูกๆ อย่างแท้จริง แต่แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำกับพวกเขาเท่านั้น (นี่คือตัวอย่างชั้นดีของความเย้ายวนใจในกรอบความคิดแบบมองเข้า เพราะเราตกหลุมพรางของมันง่ายมากๆ)
- หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องนี้มาบ้างแล้ว เรื่องราวของบิล บาร์ตแมนน์ เจ้าของบริษัทซีเอฟเอสทู ที่ในตอนแรกประสบปัญหากับการติดตามเงินคืนจากลูกหนี้เหมือนกับบริษัทอื่นๆ จนกระทั่งในที่สุดเขาใช้กรอบความคิดแบบมองออก และให้พนักงานช่วยกันคิดถึงปัญหาของลูกหนี้ และด้วยวิธีการช่วยหางานให้ลูกหนี้ ทำให้พวกเขาติดตามหนี้ได้ และยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกหนี้อีกด้วย พวกเขาทำกระทั่งเขียนเรซูเม่ให้ใหม่ ช่วยหางาน ยื่นใบสมัคร ซ้อมสัมภาษณ์ และกระทั่งโทรไปปลุกในวันที่ลูกหนี้มีนัดสัมภาษณ์ด้วยซ้ำ
- เรื่องราวการฟื้นฟูกิจการของฟอร์ด มอเตอร์ ที่ขาดทุนเลือดท่วมระดับ 17,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และด้วยการเข้ามาบริหารของอลัน มูลัลลี่ มือบริหารจากโบอิ้ง กับแนวคิดแบบมองออก ทำให้ฟอร์ดพลิกฟื้นกลับคืนมาได้ เดิมทีวัฒนธรรมที่ฟอร์ดเป็นแบบเอาตัวรอด บริษัทอาจจะแย่ แต่ไม่เคยมีผู้บริหารทีมไหนมองว่าตัวเองทำงานแย่เลย มูลัลลี่เข้าไปพร้อมกับนโยบายการประชุมอัพเดทรายสัปดาห์ ทุกคนมาประชุมพร้อมแผนภาพสีเขียวว่าทุกอย่างในแผนกกำลังไปได้สวย (ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้สวยอย่างที่ควรเป็น) แต่แล้วในสัปดาห์ที่สี่ ก็เริ่มมีผู้บริหารรายหนึ่งคือ มาร์ก ฟีลด์ส ซึ่งพบปัญหากับรถรุ่นใหม่ที่กำลังจะต้องออกขาย กล้าที่จะพรีเซนต์แผนงานของเขาด้วยสีแดงเป็นครั้งแรก มูลัลลี่เอ่ยชมเขาและเชิญชวนให้ทุกคนช่วยมาร์กแก้ปัญหา แม้ว่าสัปดาห์ถัดจากนั้นก็ยังไม่มีแผนภาพของใครนอกจากมาร์กเป็นสีแดงอยู่ดี เพราะทุกคนกำลังรอดูว่ามาร์กจะโดนไล่ออกหรือไม่ มูลัลลี่บอกว่า “ตัวคุณไม่ได้เป็นสีแดงสักหน่อย ปัญหาที่คุณกำลังแก้อยู่ต่างหากที่เป็นสีแดง” สัปดาห์ถัดจากนั้น แผนภาพทั้งหมดก็กลายเป็นสีแดงเถือกไปหมด ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหา และทีมก็ทำงานด้วยวิธีนี้กันตลอดมา จนกระทั่งฟอร์ดผ่านพ้นวิกฤต มูลัลลี่เกษียณจากฟอร์ดในปี 2014 คนที่ขึ้นมาแทนตำแหน่งของเขาก็คือ มาร์ก ฟีลด์ส นั่นเอง
- เรื่องกรอบแนวคิดแบบมองออก ยังใช้ได้กับการดูแลเด็กนักเรียนเล็กๆ ที่มีปัญหาอีกด้วย มีเหล่าครูเจอนักเรียนเจ้าปัญหาที่แสบสุดๆ และไม่มีใครเอาอยู่ เด็กคนนี้โดนทำโทษในห้องกักตัวบ่อยครั้ง แต่ก็ยังแสดงพฤติกรรมเหมือนเดิม จนมีครูคนหนึ่งที่เริ่มถามว่าเด็กคนนี้กำลังต้องการอะไร และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่มีต่อเขา หลังจากนั้นเด็กคนนี้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น
แต่การมองเห็นจุดมุ่งหมาย ความต้องการ และปัญหาของคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บ่อยครั้งที่เรามักจะตั้งคำถามว่าแล้วมันจะเริ่มต้นได้ยังไง หรือกระทั่งสงสัยว่าแล้วทำไมเราต้องเป็นคนเข้าใจคนอื่นอยู่ฝ่ายเดียวกันล่ะ
เพราะอย่างนั้นในหนังสือเล่มนี้จึงมีบทหนึ่งที่พูดถึงการสร้างให้เกิดกรอบแนวคิดแบบมองออก โดย “อย่ารอคนอื่น”
เพราะคนส่วนใหญ่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกันทั้งนั้น แต่เอาแต่เฝ้ารอให้อีกฝ่ายเริ่มก่อน ผู้บริหารก็รอให้พนักงานเริ่มก่อน พนักงานก็รอให้ผู้บริหารเริ่มก่อน พ่อแม่เฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงของลูกๆ ในขณะที่ลูกก็เฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ แม้แต่คู่สมรสเองก็รอให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงก่อนเช่นกัน และเพราะทุกคนเอาแต่รอแบบนี้ จึงไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สิ่งที่เราทำได้และควรทำ คือการเป็นผู้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง โดยไม่คาดหวังด้วยว่าคนอื่นจะเปลี่ยนตาม เราต้องพร้อมและสมัครใจจะเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง แม้ว่าคนอื่นจะยังไม่เต็มใจเปลี่ยนก็ตาม นอกจากนี้ส่ิงที่เราควรตระหนักไว้เสมอก็คือ การเปลี่ยนแปลงล้วนใช้เวลา ไม่มีทางเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน และแม้บางคนที่จะมีกรอบความคิดแบบมองออกแล้ว ก็ยังสามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นกรอบความคิดแบบมองเข้าได้ง่ายๆ
พออ่านจบแล้วก็นึกอยากลองฝึกขึ้นมาเหมือนกันค่ะ เมื่อลองคิดว่าสิ่งที่เราทำจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างเราในทางที่ดีขึ้น พลังในเชิงบวกก็น่าจะช่วยผลักดันให้เรารู้สึกมีแรงที่จะทำมากขึ้นด้วย :)