Book Review : Your Money / Your Life เงินหรือชีวิต (1)
เราเคยซื้อหนังสือเล่มนี้ฉบับพิมพ์ไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่สุดท้ายก็แทบไม่ได้แตะ และขายทอดตลาดไปซะก่อน สุดท้ายมาสะดุดตากับปกฉบับพิมพ์ใหม่ของ Openbooks ที่เรียบง่ายสะอาดตา ชื่อหนังสือเหมือนคำถามที่กระแทกเข้ามากลางใจ อาจเพราะเวลาล่วงเลยมาหลายปี เรามาถึงวัยที่การคิดเรื่องชีวิตที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องหวนกลับมาอีกครั้ง
ครั้งนี้เราตั้งใจพลิกหนังสือเล่มนี้อ่านอย่างจริงจัง แม้ว่าความหนาและความหนักของมันจะทำให้ท้อไปหลายครั้ง (หนังสือหนา 640 หน้า น้ำหนักหย่อนครึ่งโลไปเล็กน้อย) เราไม่รีบเร่งในการอ่าน ค่อยๆ ละเลียดเมื่ออยาก หยุดพักให้ความคิดบางอย่างตกตะกอน กลับมาอ่านต่อเมื่ออยากอ่านอีกครั้ง ทำให้หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาอ่านหลายเดือนทีเดียว
ในวัย 40 นี้ เราคิดว่าเราอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ลึกซึ้งมากขึ้นไม่น้อย โดยรวมแล้วเราชอบแนวคิดหลักของหนังสือมาก และรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องดีหากทุกๆ คนจะเริ่มตั้งคำถามบางอย่างกับชีวิตของตัวเองอีกครั้ง (อ้อ โชคดีที่เล่มนี้เป็นฉบับปรับปรุงใหม่ให้เข้ากับยุคศตวรรษที่ 21 ด้วย เพราะฉบับพิมพ์แรกเขียนตั้งแต่ปี 1992 โน่นเลยทีเดียว)
บทนำ
ชื่อหนังสือเหมือนชวนเราขบคิดอยู่หน่อยๆ ราวกับเราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เงินหรือชีวิตกันล่ะ เรามีทั้งสองอย่างพร้อมกันไม่ได้หรือ หรือเมื่อได้อย่างจะต้องเสียอีกอย่าง แต่จริงๆ แล้วเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้กลับเป็นตรงกันข้าม คนเขียนก้าวข้ามแนวคิดตามแบบฉบับหนังสือเกี่ยวกับการเงินมากมายในท้องตลาดที่แยกเรื่องเงินและเรื่องชีวิตออกจากกัน ในขณะที่หนังสือเล่มนี้จะบอกวิธีนำชีวิตกลับมารวมเป็นชิ้นเดียว เป็น “ระบบคิดแบบองค์รวม”
หนังสือจะพาคุณสำรวจเรื่องพื้นฐาน หรือสะท้อนว่าการใช้จ่ายเงินของคุณก็คือคุณค่าและความมุ่งหมายบางอย่างในชีวิตของคุณนั่นแหละ (ว่าแต่… คุณรู้จักมันดีพอหรือยังล่ะ)
หนังสือจะบอกวิธีการปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเงินที่คุณหามาได้ เงินที่คุณใช้จ่ายไป รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่คุณมีกับเงิน
ในวิธีคิดแบบเก่าๆ เราใช้เวลาส่วนใหญ่กว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (จาก 168 ชั่วโมงที่มี) ไปเพื่อหาเงิน แต่งตัวไปทำงาน เดินทางไปทำงาน คิดเรื่องงาน และหาวิธีคลายเครียดจากงาน เราพยายามใช้เวลาช่วงเย็นและวันหยุดไปกับความบันเทิงเพื่อหลีกหนีงานที่ทำ พักร้อนจากงานที่ทำ รักษาปัญหาสุขภาพ เราเกือบลืมไปแล้วว่าเรามีค่าใช้จ่ายบางอย่างเพื่อพยายามรักษางานไว้ให้ได้
งานฉกฉวยทั้งเวลาและเงินทองไปจากเราไม่น้อยเลย แนวคิดทางการเงินแบบเก่าๆ ไม่เคยช่วยให้เราเป็นอิสระและอิ่มเอม แต่ทำให้เราติดหล่มภาวะพึ่งพิงทางการเงินมากกว่า
โรดแมปหรือกรอบแนวคิดทางการเงินแบบใหม่อาจจะทำยากไปซักหน่อย เพราะคนเรามักมีกรอบแนวคิดแบบที่ส่งต่อกันมาจากคนรุ่นเก่าเป็นทอดๆ แต่มันก็ไม่ยากเกินทำได้แน่
กุญแจสำคัญสำหรับการสร้างโรดแมปใหม่คือ “วิธีคิดแบบเอฟไอ” หรือ FI — Financially Independent แปลเป็นไทยว่าอิสระทางการเงินนั่นเอง (แต่ไม่เหมือนอิสรภาพทางการเงินแบบที่คนไทยพูดถึงกันบ่อยๆ ในยุคหนึ่งหรอกนะ) เราจะค่อยๆ เรียนรู้ไปตลอดทั้งเล่มว่าแนวคิดนี้เป็นอย่างไร และช่วยอะไรได้บ้าง
บทที่ 1 The Money Trap กับดักตัวเงิน : โรดแมปทางการเงินแบบเก่า
แม้จะรักในงานที่ทำแค่ไหน แต่ก็แทบไม่มีใครที่กลับมาบ้านแบบมีชีวิตชีวามากกว่าตอนก่อนออกไปทำงานตอนเช้า งานดึงพลังงานชีวิตเราไม่น้อย แต่กลายเป็นสิ่ง “ต้อง” ทำ
เรามักคิดว่าเรามีตัวตนเป็นงานที่ทำ ลองคิดง่ายๆ ถึงตอนที่คุณไปเจอกับเพื่อนมัธยมในงานเลี้ยงรุ่นดูสิ ว่าคุณประเมินความสำเร็จของเพื่อนอย่างไรบ้าง คุณถามเพื่อนร่วมชั้นว่า “รู้สึกอิ่มเอมกับชีวิตไหม ได้ใช้ชีวิตตามคุณค่าที่ตัวเองยึดถือหรือไม่” หรือถามพวกเขาว่า “ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร ขับรถอะไร ลูกเรียนมหาลัยไหน” มากกว่ากัน
เราหาเลี้ยงความตายในที่ทำงาน เพื่อชีวิตสำราญช่วงสุดสัปดาห์
เราชอบรายละเอียดส่วนนี้ของบทแรกมาก เพราะบรรยายมาแล้วเห็นภาพชีวิตของคนทั่วไปแบบสุดๆ ขอคัดมาทั้งหมดเลย (ตัดย่อบ้างนิดหน่อย) เพื่อให้คนอ่านรีวิวอินไปด้วยกัน
“มาลองดูชีวิตของผู้บริโภคทั่วๆ ไป ซึ่งกำลังใช้เงินที่หามาอย่างยากเย็นกัน วันนี้วันเสาร์ คุณเอาผ้าไปซัก เอารถไปศูนย์บริการเพื่อสลับตำแหน่งล้อยางและตรวจดูว่าเสียงแปลกๆ เกิดจากอะไร จากนั้นไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อหาอาหารเลี้ยงครอบครัวไปอีกสัปดาห์ และต้องบ่นอุบที่แคชเชียร์เมื่อจำได้ว่าเคยจ่ายแค่ 75$ สำหรับของกินของใช้สี่ถุงใหญ่นี้ ไม่ใช่ 125$ (แน่นอนว่าคุณประหยัดได้ถ้าคอยตัดคูปองและซื้อของตอนลดราคา แต่ใครจะมีเวลาขนาดนั้น) คุณเดินห้างเพื่อหาซื้อหนังสือที่เพื่อนคุณอ่านกันอยู่ กลับออกมาพร้อมหนังสือสองเล่ม ชุดสูท (ลดครึ่งราคา) กับรองเท้าเข้ากัน และเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับเด็กๆ ทุกอย่างนี้ใช้บัตรเครดิตจ่าย ถึงบ้านแล้ว ทำงานดูแลสวน อ้าว ต้องขับรถไปซื้อกรรไกรตัดกิ่งก่อน กลับถึงบ้านพร้อมต้นพริมโรสเล็กๆ สองแถว กระถางใหม่ๆ อ้อ แล้วก็กรรไกรตัดกิ่ง พยายามปรับแต่งเครื่องปิ้งขนมปังที่ปิ้งขนมปังไหม้ทุกแผ่นแม้จะปรับไฟไว้เบาสุดแล้ว หาใบรับประกันไม่เจอ ไปร้านขายเครื่องใช้ในบ้านเพื่อซื้อเครื่องใหม่ กลับออกมาพร้อมชั้นวางและตัวยึดสำหรับห้องอ่านหนังสือ ตัวอย่างสีสำหรับทาสีห้องครัวใหม่ อ้อใช่ มีเครื่องปิ้งขนมปังด้วย ออกไปกินมื้อค่ำกับคู่ของคุณ ปล่อยให้เด็กๆ อยู่กับพี่เลี้ยง เช้าวันอาทิตย์แล้ว ทำแพนเค้กเป็นอาหารเช้าให้ทั้งครอบครัว อ้าว ไม่มีแป้งสาลี ขับรถไปซื้อแป้งสาลีที่ซูเปอร์ฯ กลับบ้านมาพร้อมสตรอเบอรี่และบลูเบอรี่แช่แข็งสำหรับแพนเค้ก น้ำเชื่อมเมเปิล และกาแฟจากเกาะสุมาตรา อ้อ ใช่แล้ว มีแป้งสาลีด้วย พาครอบครัวไปขับรถเล่นย่านชนบท เติมน้ำมัน สะดุ้งเมื่อเห็นราคา แต่จะมีทางอื่นอีกหรือที่จะให้ครอบครัวและหมาที่เลี้ยงไว้ได้ออกมาเที่ยวเล่นกัน ขับรถไปสองชั่วโมง หยุดพักที่ร้านอาหารน่ารักๆ จ่ายค่ามื้อเย็นด้วยบัตรเครดิต ใช้เวลาช่วงเย็นไปกับการอ่านนิตยสาร และปล่อยใจลอยไปกับโฆษณาทั้งหลายว่าจะมีชีวิตที่ดีจริงๆ รออยู่ข้างหน้าถ้าคุณซื้อรถปอร์เช่สักคัน ไปพักร้อนในที่แปลกใหม่ หรือคอมพิวเตอร์ใหม่ หรือ…”
สรุปคือเราคิดว่าตัวเองทำงานเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย แต่เรากลับใช้จ่ายมากกว่าที่เราหาได้ไปกับสิ่งที่เกินความจำเป็น ซึ่งส่งเรากลับไปทำงานเพื่อหาเงินมาซื้อของเพิ่มอีก…
ดูเหมือนคำว่า “พอ” แทบจะไม่เคยอยู่ในพจนานุกรมของเรา ผลวิจัยหลายๆ อันบอกเราว่า ถ้าเราถามว่าแค่ไหนถึงจะพอ คนส่วนใหญ่เกิน 50% มักจะตอบว่ามากกว่าที่เป็นอยู่ เรามีคติความเชื่อติดกับคำว่า “ยิ่งมากยิ่งดี” แถมยังมีของที่เราแพ้ทาง แบบที่เห็นทีไรก็อดใจไม่ไหวซื้อกลับมาเสมอ
มาลองดูกันว่า หนังสือเล่มนี้แนะนำวิธีการต่างๆ ไว้อย่างไรบ้าง
Step 1 : ยอมรับอดีต (Making peace with the past)
ขั้นนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
A. คุณหาเงินได้เท่าไรแล้วตลอดชีวิต : ขั้นตอนนี้อาจจะฟังดูยากหน่อยสำหรับคนที่บอกว่าไม่เคยเก็บอะไรเป็นบันทึกไว้เลย คุณอาจต้องลองขุดหารายการแสดงภาษีปีก่อนๆ นึกถึงเงินรางวัลที่เคยได้ งานพิเศษ เงินค่าเช่า สมุดธนาคาร
B. แล้วมีอะไรให้อวดได้บ้าง : ขั้นตอนนี้จะชวนคุณไปคำนวณสินทรัพย์สุทธิของตัวเอง (สินทรัพย์รวมหักกับหนี้ที่มี) ถือเป็นการทำงบดุลส่วนบุคคล เป็นการออกสำรวจจักรวาลวัตถุของคุณ แล้วไล่เรียงทุกอย่างที่คุณครอบครอง และทุกอย่างที่คุณติดค้างคนอื่นอยู่
ขั้นตอนทั้งสองนี้ออกจะมีรายละเอียดเยอะอยู่สักหน่อย แต่ในหนังสือบอกไว้ค่อนข้างละเอียดว่ามีอะไรบ้าง หากคุณจะไม่ทำ (แบบที่เราก็ไม่ได้ทำ) คุณอาจแค่อ่านให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าขั้นตอนนี้จะช่วยให้เกิดอะไร ให้คุณเห็นภาพและเข้าใจอะไร หากคุณนึกภาพตามไปด้วยได้ คุณก็อาจยังไม่จำเป็นต้องทำทันทีตอนที่อ่านก็ได้
บทที่ 2 เงินไม่ได้เป็นอย่างที่เคย และไม่เคยจะเป็นอย่างนั้น
บทนี้เล่าเรื่องเงินในมุมมองหลายๆ แบบให้เราเห็นภาพความแตกต่าง ก่อนจะสรุปในท้ายที่สุดว่า “เงินคือสิ่งที่เราเลือกจะแลกพลังชีวิตไปเพื่อให้ได้มา” เพราะฉะนั้น เงิน = พลังชีวิต และเมื่อคุณเข้าใจแล้วว่าเงินคือสิ่งที่คุณต้องใช้พลังชีวิตไปแลกมา ก็จะเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้จัดลำดับเรื่องที่ต้องใช้ของต่างๆ ใหม่ตามความสำคัญ เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่าพลังชีวิตของตัวคุณเองหรอก
Step 2 : อยู่กับปัจจุบัน ติดตามพลังชีวิตของคุณเอง
A. คุณต้องแลกพลังชีวิตเท่าไรเพื่อให้ได้มา
ขั้นตอนนี้จะชวนคุณดูว่าที่คุณบอกว่าคุณทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เดือนละกี่ชั่วโมง แล้วได้เงินเดือนกี่บาทนั้น จริงๆ แล้วอัตราส่วนพลังชีวิตกับรายได้ที่เห็นนั้นยังไม่สมจริงและไม่ครบถ้วน
เพราะคนเรามักลืมนึกถึงสิ่งที่ต้องใช้ไปเพิ่มเกี่ยวกับตัวงาน เช่น การเดินทางไปทำงาน เสื้อผ้าใส่ไปทำงาน ไปจนกระทั่งถึงบางคนที่ขุ่นเคืองกับงานที่ทำ จนกระทั่งต้องหาบางอย่างมาทำเพื่อแก้เครียด เช่น ไปกินของอร่อย ไปช้อปปิ้ง
คุณต้องคำนวณเวลาจริงๆ ที่เสียไปกับการทำงาน หรือกระทั่งผลกระทบที่เกิดจากงาน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมด้วย จากนั้นจึงจะนำมาคำนวณได้จริงๆ อีกครั้ง
ผลสุดท้ายของขั้นตอนนี้จะออกมาเห็นภาพชัดว่า เงินทุกๆ 1 ดอลลาร์ หรือ 100 บาท จริงๆ แล้วคุณต้องใช้พลังงานชีวิตเท่าไหร่ไปแลกมา ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คุณเห็นภาพชัดเจนขึ้น หรืออาจจะยับยั้งการใช้จ่ายได้มากขึ้นด้วยซ้ำ
B. ติดตามเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ผ่านเข้ามาและออกไปจากชีวิต
บันทึกนี้จะเป็นบททดสอบที่แสดงถึงความมุ่งมั่นที่คุณมีในการที่จะเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเงินของคุณ เป็นการปรับทัศนคติแบบยืดหยุ่น หย่อนยาน ไปสู่ความแม่นยำ เที่ยงตรง นอกจากนี้ขั้นตอนนี้ยังทำให้คุณเรียนรู้พฤติกรรมทางการเงินของตัวเองด้วย
บทที่ 3 แล้วเงินไปไหนหมด
Step 3 : ตารางรายเดือน
บทนี้จะช่วยให้เราวิเคราะห์ดูรูปแบบรายได้และรายจ่าย แยกหมวดหมู่ของเราได้ชัดเจนขึ้น แต่คุณจะต้องสร้างตารางรายเดือน และบันทึกธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างลงในหมวดแต่ละหมวด จากนั้นให้แปลงหน่วยเงินออกมาเป็นชั่วโมงพลังชีวิต เพื่อให้คุณเห็นภาพสิ่งที่ต้องแลกไปเพื่อของนั้นๆ ชัดเจนขึ้น
เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างยาวและหนามาก ขอตัดการรีวิวออกเป็น 2–3 บทความค่ะ ไว้พบกันใหม่ในตอนที่ 2 นะคะ